รู้จักออสเตรเลีย

Commonwealth of Australia

ธงชาติ
 
 
 
ตราแผ่นดิน และ เพลงชาติ: แอดวานซ์ออสเตรเลียแฟร์
 
 
เครือรัฐออสเตรเลียประเทศออสเตรเลีย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "เครือรัฐออสเตรเลีย (อังกฤษ: Commonwealth of Australia)" เป็นประเทศซึ่งประกอบด้วยแผ่นดินหลักของทวีปออสเตรเลีย เกาะแทสเมเนีย และเกาะอื่นๆในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และมหาสมุทรใต้ ประเทศเพื่อนบ้านของออสเตรเลียประกอบด้วย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และติมอร์ตะวันออกทางเหนือ หมู่เกาะโซโลมอน วานูอาตู และนิวแคลิโดเนียทางตะวันออกเฉียงเหนือ และนิวซีแลนด์ทางตะวันออกเฉียงใต้


ชื่อออสเตรเลีย มาจากคำในภาษาละติน ว่า australis ซึ่งหมายถึงทิศใต้ โดยมีตำนานถึง "ดินแดนทางใต้ที่ไม่รู้จัก" (ละติน: terra australis incognita) ชาวยุโรปเริ่มสำรวจค้นพบออสเตรเลียในพุทธศตวรรษที่ 22 และต่อมาจึงกลายเป็นดินแดนอาณานิคมของบริเตน โดยเริ่มต้นเป็นอาณานิคมนักโทษในนิวเซาท์เวลส์ และจึงมีการตั้งอาณานิคมขึ้นอีกห้าแห่ง อาณานิคมทั้งหกรวมตัวเป็นสหพันธรัฐในปีพ.ศ. 2444 ออสเตรเลียมีชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยตั้งแต่ก่อนชาวยุโรปเข้ามา เรียกว่าชาวอะบอริจิน
Commonwealth of Australia

ประวัติศาสตร์

ชนพื้นเมืองในออสเตรเลียก่อนการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรป คือชาวอะบอริจิน และชาวเกาะทอร์เรสสเทรต ซึ่งชนเหล่านี้มีภาษาแตกต่างกันนับร้อยภาษา ประมาณการว่า มีชาวอะบอริจินมากกว่า 780,000 คนอยู่ในออสเตรเลียในปีพ.ศ. 2331

การค้นพบออสเตรเลียของชาวยุโรปครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2149 เป็นเรือของชาวดัตช์ โดยกัปตัน Willem Janszoon ทำแผนที่ชายฝั่งส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย ระหว่างปีพ.ศ. 2149 และ 2313 มีเรือของชาวยุโรปประมาณ 54 ลำจากหลายชาติเดินทางมาที่ออสเตรเลีย ซึ่งรู้จักในขณะนั้นว่านิวฮอลแลนด์[4] ในปีพ.ศ. 2313 เจมส์ คุก เดินทางมาสำรวจออสเตรเลียและทำแผนที่ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย และได้ประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ให้ชื่อว่านิวเซาท์เวลส์ ต่อมาสหราชอาณาจักรใช้ออสเตรเลียเป็นอาณานิคมสำหรับนักโทษ (penal colony) ฝูงเรือแรกเดินทางมาถึงออสเตรเลียที่อ่าวซิดนีย์ในปีพ.ศ. 2330 ในวันที่ 26 มกราคม (ค.ศ. 1788) ซึ่งต่อมาเป็นวันออสเตรเลีย ผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกส่วนใหญ่เป็นนักโทษและครอบครัวของทหาร โดยมีผู้อพยพเสรีเริ่มเข้ามาในปีพ.ศ. 2336 มีการตั้งถิ่นฐานบนเกาะแทสเมเนีย หรือชื่อในขณะนั้นคือฟานไดเมนส์แลนด์ ในปีพ.ศ. 2346 และตั้งเป็นอาณานิคมแยกอีกแห่งหนึ่งในปีพ.ศ. 2368 สหราชอาณาจักรประกาศสิทธิในฝั่งตะวันตกในปีพ.ศ. 2372 และเริ่มมีการตั้งอาณานิคมแยกขึ้นมาอีกหลายแห่ง ได้แก่เซาท์ออสเตรเลีย วิกตอเรีย และควีนส์แลนด์ โดยแยกออกมาจากนิวเซาท์เวลส์ เซาท์ออสเตรเลียไม่เคยเป็นอาณานิคมนักโทษ ในขณะที่วิกตอเรียและเวสเทิร์นออสเตรเลียยอมรับการขนส่งนักโทษภายหลัง เรือนักโทษลำสุดท้ายมาถึงนิวเซาท์เวลส์ในปีพ.ศ. 2391 หลังจากการรณรงค์ยกเลิกโดยกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐาน การขนส่งนักโทษยุติอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2396 ในนิวเซาท์เวลส์และแทสเมเนีย และปีพ.ศ. 2411 ในเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ปีพ.ศ. 2394 เอดเวิร์ด ฮาร์กรีฟส์ ค้นพบสายแร่ทอง ในที่ๆเขาตั้งชื่อว่าโอฟีร์ (Ophir) ในนิวเซาท์เวลส์ ทำให้เกิดยุคตื่นทอง นำคนจำนวนมากเดินทางมาออสเตรเลีย[8] ในปีพ.ศ. 2444 หกอาณานิคมในออสเตรเลียรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ ในชื่อเครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) ประกอบด้วยรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิกตอเรีย รัฐควีนส์แลนด์ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย และรัฐแทสเมเนีย รวมหกรัฐเข้าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหนึ่งเดียว เฟเดอรัลแคพิทัลเทร์ริทอรีก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2454 เป็นเมืองหลวงของสหพันธรัฐ จากส่วนหนึ่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ บริเวณแยส-แคนเบอร์รา และเริ่มดำเนินงานรัฐสภาในแคนเบอร์ราในปีพ.ศ. 2470 ในปีพ.ศ. 2454 นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี แยกตัวออกมาจากเซาท์ออสเตรเลีย และเข้าเป็นดินแดนในกำกับของสหพันธ์ ออสเตรเลียสมัครใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมถึง 60,000 คนจากประชากรชายน้อยกว่าสามล้านคน

ออสเตรเลียประกาศใช้บทกฎหมายเวสต์มินสเตอร์ คริสต์ศักราช 1931 (พ.ศ. 2474) ในปีพ.ศ. 2485 โดยมีผลบังคับใช้ย้อนไปตั้งแต่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นการยุติบทบาทนิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรในออสเตรเลียเกือบทั้งหมด ในสงครามโลกครั้งที่สอง ออสเตรเลียประกาศสงครามกับเยอรมนีพร้อมกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส หลังจากเยอรมนีบุกโปแลนด์ ออสเตรเลียส่งทหารเข้าร่วมสมรภูมิในยุโรป เมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกาเหนือ แผ่นดินออสเตรเลียโดนโจมตีโดยตรงครั้งแรกจากการเข้าตีโฉบฉวยทางอากาศของญี่ปุ่นที่ดาร์วิน ออสเตรเลียยุตินโยบายออสเตรเลียขาว โดยดำเนินการขั้นสุดท้ายในปีพ.ศ. 2516 พระราชบัญญัติออสเตรเลีย คริสต์ศักราช 1986 (พ.ศ. 2529) ยกเลิกบทบาทของสหราชอาณาจักรในอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการของออสเตรเลียโดยสิ้นเชิง ในปีพ.ศ. 2542 ออสเตรเลียจัดการลงประชามติ ว่าจะให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีแต่งตั้งจากรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งคะแนนเสียงเกือบ 55% ลงคะแนนปฏิเสธ

การเมืองการปกครอง

ออสเตรเลียมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีรูปแบบรัฐบาลเป็นสหพันธรัฐ และระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประมุขแห่งรัฐของออสเตรเลียคือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 พระอิสริยยศในออสเตรเลียคือ Elizabeth the Second, by the Grace of God Queen of Australia and Her other Realms and Territories, Head of the Commonwealth

ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (แม่แบบ:Governor-general) เป็นผู้แทนพระองค์ในออสเตรเลียของพระประมุขซึ่งประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียระบุว่า "อำนาจบริหารเป็นของสมเด็จพระราชินี และทรงใช้อำนาจนั้นผ่านผู้สำเร็จราชการในฐานะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินี" อำนาจของผู้สำเร็จราชการนั้นรวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีและผู้พิพากษา การยุบสภา และการลงนามบังคับใช้กฎหมาย ผู้สำเร็จราชการคนปัจจุบันคือพลตรีไมเคิล เจฟเฟอรี ผู้สำเร็จราชการยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ในทางธรรมเนียมปฏิบัตินั้น ผู้สำเร็จราชการจะใช้อำนาจตามคำแนะนำของรัฐมนตรี สภาบริหารสหพันธรัฐ (Federal Executive Council) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้สำเร็จราชการ โดยมีผู้สำเร็จราชการเป็นประธานการประชุม และรัฐมนตรีทุกคนมีสมาชิกภาพตลอดชีพ แต่ในทางปฏิบัติจะเรียกประชุมเฉพาะรัฐมนตรีคณะปัจจุบัน[18] รัฐบาลจะมาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ออสเตรเลียมีรัฐสภาเก้าแห่ง หนึ่งสภาของสหพันธ์ หกสภาของแต่ละรัฐ และสองสภาของแต่ละดินแดน รัฐสภาของสหพันธ์ ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) และวุฒิสภา (Senate) สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง มีผู้แทนเขตละหนึ่งคน วุฒิสภามีสมาชิก 76 คน มาจากแต่ละรัฐ รัฐละ 12 คน และจากดินแดน (เขตเมืองหลวงและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี) ละสองคน[19] ทั้งสองสภาจัดการเลือกตั้งทุกสามปี สมาชิกวุฒิสภามีวาระ 6 ปี โดยการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

ออสเตรเลียมีพรรคการเมืองหลักสามพรรค ได้แก่พรรคแรงงานออสเตรเลีย พรรคเสรีนิยม และพรรคชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2465 รัฐบาลของสหพันธ์มาจากพรรคแรงงานหรือเป็นรัฐบาลผสมของพรรคเสรีนิยมและพรรคชาติ ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ มาจากพรรคแรงงาน พรรคอื่นๆที่มีบทบาทได้แก่ออสเตรเลียนเดโมแครต และออสเตรเลียนกรีนส์ โดยมักได้ที่นั่งในวุฒิสภา

รัฐและดินแดน

แผนที่รัฐและดินแดนของออสเตรเลียออสเตรเลียแบ่งออกเป็น 6 รัฐ ได้แก่


รัฐนิวเซาท์เวลส์
เมืองหลวงชื่อ ซิดนีย์ (Sydney) รัฐนี้มีประชากรหนาแน่นที่สุด มีชาวไทยและนักศึกษาไทยมากที่สุด เป็นรัฐที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมมากที่สุดในออสเตรเลีย ซิดนีย์เป็นเมืองคึกคัก เต็มไปด้วยสีสัน มีชีวิตชีวา สัญลักษณ์ของเมือง คือ โอเปราเฮาส์ (Opera House) และสะพานข้ามอ่าวซิดนีย์ (Sydney Harbor Bridge)


รัฐควีนส์แลนด์
รัฐนี้เป็นรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 มีบริสเบน (Brisbane) เป็นเมืองหลวง ควีนส์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นรัฐแห่งแสงแดด (Sunshine State) ที่มีปะการังที่ยาวที่สุดในโลกจนได้รับการยกย่องเป็นมรดกของโลก ชื่อ” Great Barrier Reefs” มีป่าดงดิบและป่าเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์


รัฐเซาท์ออสเตรเลีย
มีเมืองหลวงชื่อ อาดิเลด (Adelaide) ครั้งหนึ่งเมืองนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเทศกาล เนื้อที่ส่วนใหญ่จะแห้งแล้ง

รัฐแทสเมเนีย
มีเมืองหลวงชื่อโฮบาร์ต (Hobart) เป็นรัฐที่เล็กที่สุด เป็นเกาะตั้งอยู่ห่างจากรัฐวิกตอเรียแผ่นดินใหญ่ประมาณ 240 กิโลเมตร มีอากาศหนาวที่สุด สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาและที่ราบสูง ทิวทัศน์สวยงามมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น สวิตเซอร์แลนด์แห่งออสเตรเลีย ที่นี่เป็นเมืองสงบ ค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนถูก เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย (University of Tasmania)

รัฐวิกตอเรีย
รัฐนี้ได้รับการขนานนามว่า “Garden State” เนื่องจากมีสวนสาธารณะมากกว่ารัฐอื่น เมืองหลวงคือ “เมลเบิร์น” เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 เป็นศูนย์กลางศิลปะ ที่ตั้งของหอศิลป์ (National Gallery of Victoria) ที่ตั้งของศูนย์แสดงคอนเสิร์ต (Melberne Concert Hall) ที่มีระบบเสียงดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่งและเป็นเมืองที่นักศึกษาไ ทยนิยมไปศึกษาเป็นอันดับ 2

รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
มีเมืองหลวงชื่อเพิร์ท (Perth) เป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุด อุดมสมบูรณ์ด้วยเหมืองแร่และแร่ทองคำ อาชีพสำคัญของประชากรคือ การทำประมงและทำเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเพชรได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เพิร์ทเป็นเมืองสะอาด สวยงาม และเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุด ใช้เวลาในการเดินทางเพียง 6 ชั่วโมงครึ่ง มีเวลาแตกต่างจากประเทศไทยเพียง 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีดินแดนหลักๆบนแผ่นดินใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่

เขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ( Northern Territory)

มีเมืองหลวงชื่อดาร์วิน (Darwin) เนื้อที่ส่วนใหญ่ของมณฑลแถบนี้จะแห้งแล้ง มีพื้นที่เกษตรกรรมเพียงร้อยละ 10 ภูมิอากาศไม่เหมาะกับการเพาะปลูก แต่เป็นแหล่งผลิตไวน์อันยอดเยี่ยม

เขตนครหลวงออสเตรเลีย (Australian Capital Territory)
เป็นเขตที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศ คือ แคนเบอร์รา เป็นศูนย์กลางการปกครองลักษณะตัวเมืองทันสมัยเพราะมีการวางผังเ มืองอย่างดีเยี่ยม เป็นที่ตั้งขององค์กรระดับชาติและหน่วยงานสถานทูตต่าง ๆ รวมทั้งสถานทูตไทย  และดินแดนเล็กน้อยอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว ดินแดนนั้นมีลักษณะเดียวกับรัฐ แต่รัฐสภากลางสามารถค้านกฎหมายใดก็ได้จากสภาของดินแดนในขณะที่ในระดับรัฐ กฎหมายสหพันธ์จะค้านกับกฎหมายรัฐได้เพียงในบางด้านตามมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติอื่นๆนั้นเป็นของรัฐสภาของแต่ละรัฐ

แต่ละรัฐและดินแดนมีสภานิติบัญญัติของตัวเอง โดยในควีนสแลนด์และดินแดนทั้งสองแห่งเป็นลักษณะสภาเดี่ยว ในขณะที่ในรัฐที่เหลือเป็นแบบสภาคู่ สมเด็จพระราชินีมีผู้แทนพระองค์ในแต่ละรัฐ เรียกว่า governor และในนอร์เทิร์นเทอร์ริทอรี administrator ส่วนในเขตเมืองหลวง ใช้ผู้แทนพระองค์ของเครือรัฐ (governor-general)

ภูมิศาสตร์

ออสเตรเลียมีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปร้อยละ 65 เป็นที่ราบสูง และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งและทุรกันดาร และมีขนาดทะเลทรายรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทะเลทรายสะฮาราในทวีปแอฟริกา ชาวออสเตรเลียเรียกดินแดนที่แห้งแล้งและทุรกันดารนี้ว่า "เอาต์แบ็ก" ประชากรออสเตรเลียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกหลังเทือกเขาเกรตดิไวดิง ซึ่งแบ่งแยกชายฝั่งตะวันออกกับเขตเอาต์แบ็ก มีแม่น้ำสายสำคัญ ๆ อยู่ทางภูมิภาคตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำดาร์ลิง แม่น้ำเมอร์เรย์ ส่วนตอนกลางของประเทศที่เรียกว่า "เขตเซนทรัลโลว์แลนด์" เป็นเขตแห้งแล้งที่สุด แม่น้ำลำธารต่าง ๆ อาจแห้งสนิทเป็นเวลาหลายปี เนื่องจาก ทวีป ออสเตรเลียมีสภาพเป็นเกาะทำให้ มีสิ่งมีชวิตที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง เนื่องจากสิ่งมีชีวิตพวกนี้ได้มีวิวัฒนาการเป็นอิสระจากสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง เช่น จิงโจ้

ประชากร

ประเทศออสเตรเลียมีประชากรประมาณ​ 21​ ล้านคน​ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรปที่มาตั้งรกรากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปี​พ.ศ. 2543 มีผู้อพยพใหม่เข้ามาถึง 5.9​ ล้านคน​ทำให้ประชากรเกือบสองในเจ็ดของออสเตรเลียเกิดในต่างประเทศหลังจากการเลิกนโยบายออสเตรเลียขาวในปี​พ.ศ. 2516 รัฐบาลออสเตรเลียได้พยายามส่งเสริมความสามัคคีระหว่างเชื้อสายต่าง ๆ​บนพื้นฐานของพหุวัฒนธรรม ในช่วงปี​พ.ศ. 2548 ถึง 2549 มีผู้อพยพเข้ามากกว่า 131,000 คน ส่วนใหญ่มาจากทวีปเอเชียและโอเชียเนีย

ประชากรพื้นเมืองของออสเตรเลีย ได้แก่​ชาวอะบอริจินบนแผ่นดินหลักและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส​ซึ่งมีทั้งหมด 410,003 คนในปีพ.ศ. 2544 (ร้อยละ ​2.2 ​ของประชากร)


ออสเตรเลียไม่มีศาสนาประจำชาติ จากการสำรวจสำมะโนครัวในปีพ.ศ. 2549 ประชากรประมาณ 12.6 ล้านคน (64%) ประกาศตัวเป็นคริสเตียน ในจำนวนนี้ 5.1 ล้านคน (26%) เป็นโรมันคาทอลิก และ 3.7 ล้านคน (19%) เป็นแองกลิกัน ประชากร 3.7 ล้านคนถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่นับถือศาสนา ซึ่งรวมถึงแนวความเชื่อแบบมนุษยนิยม อเทวนิยม agnosticism (ลัทธิไม่เชื่อศาสนา) และ rationalism (ลัทธิถือเหตุผล) ประชากรเกือบหนึ่งล้านคน (5%) นับถือศาสนาอื่นๆ รวมถึงพุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาเชน อย่างไรก็ตาม มีประชากรเพียง 1.5 ล้านคน (7.5%) ที่เข้าโบสถ์เป็นประจำทุกสัปดาห์

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมของออสเตรเลียมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะแบบอังกฤษหรือแองโกล-เคลติก แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งพัฒนามาจากสภาพแวดล้อมและชนพื้นเมือง ในระยะหลัง วัฒนธรรมของออสเตรเลียยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกัน


เส้นแบ่งเขตเวลา
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีขนาดกว้างใหญ่ จึงแบ่งเวลาตามเส้นแบ่งของโลกออกเป็น 3 เขตเวลาด้วยกัน คือ

เวลาฝั่งตะวันออก (Eastern Standard Time-EST)ใช้ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิกตอเรีย รัฐแทสเมเนีย รัฐควีนส์แลนด์ และกรุงแคนเบอร์รา เวลาจะเร็วกว่าประเทศไทย 3 ชั่วโมง

เวลาภาคกลาง (Central Standard Time-CST) ใช้ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี เวลาจะเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมงครึ่ง

เวลาภาคตะวันตก (Western Standard Time-WST) ใช้ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เวลาเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง ในช่วงฤดูร้อน (ตุลาคม – มีนาคม) รัฐทางใต้ ซึ่งได้แก่ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย รัฐวิกตอเรีย และรัฐแทสเมเนีย จะปรับเวลาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง

แหล่งที่มา

1 ความคิดเห็น: